เส้นทางของการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งของ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน ด้วยการมุ่งเน้นใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลักควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนเกษตรกรไทย ตลอด 28 ปี เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เผชิญกับความท้าทายทั้งการเพาะปลูก สภาพดินและสภาพอากาศ จนปัจจุบันสามารถผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งสร้างผลผลิตเฉลี่ยมากถึงปีละกว่า 1 แสนตัน จากมันฝรั่งที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพเหมาะกับสภาพอากาศของไทย และเนื่องจากมันฝรั่งเป็นพืชล้มลุกที่เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงกลางวันอยู่ที่ประมาณ 24 - 26 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนอยู่ระหว่าง 14-18 องศาเซลเซียส จึงสามารถปลูกมันฝรั่งได้มากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย
“เราตระหนักดีว่าความสำเร็จในระยะยาวของเราต้องพึ่งพิงเกษตรกรในประเทศไทย เราจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงรักษาห่วงโซ่อุปทานแต่ยังมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนอีกด้วย”
“ที่เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้คนและโลก ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกร ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เรากำลังปูทางไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นให้กับทุกคนเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที”
ความท้าทายในปี 2567 ท่ามกลางความผันผวนของสภาวะภูมิอากาศ
นายสุดิปโต กล่าวว่าในช่วงเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในไทย แต่การนำแนวปฏิบัติของโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Farming Program หรือ SFP) ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของเป๊ปซี่โคมาปรับใช้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเพาะปลูกจากต่างประเทศ ทั้งการอนุรักษ์น้ำ การดูแลสุขภาพดิน การจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการ พร้อมพัฒนาทักษะความชำนาญให้กับเกษตรกรทำให้สามารถบรรเทาภาระต้นทุนไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้แก่เกษตรกรไทยได้
ด้วยความร่วมมือของเป๊ปซี่โคและเกษตรกรที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมันฝรั่งใน 10 จังหวัดของไทย รวมแล้วกว่า 38,000 ไร่ ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สร้างรายได้โดยรวมในปัจจุบันได้ถึง ปีละ 1,500 ล้านบาทให้แก่เกษตรกรภายใต้เกษตรพันธสัญญา 5,800 ราย นอกจากนี้เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยังมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่ภายใต้เกษตรพันธสัญญาทั้งหมดให้ปฏิบัติตามแนวทางเกษตรยั่งยืนและมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 ภายในปี 2573
อย่างไรก็ตามเป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้วางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับสภาวะภูมิอากาศที่มีความผันผวนรุนแรงไว้ด้วยเช่นเดียวกันเพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกร รวมถึงการวางแผนการจัดการวัตถุดิบให้พอเพียงกับปริมาณผลิตและความต้องการภายในประเทศเพื่อไม่ให้กระทบภาคการผลิตซึ่งอยู่ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน
เผย 3 แกนหลัก ส่งเสริมคุณค่าห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
คุณสุดิปโต กล่าวว่าโครงการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนในประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เป๊ปซี่โคเรียกว่า “PepsiCo Positive หรือ pep+ (เป๊ป โพสิทีฟ)” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์หลักและเป็นอนาคตขององค์กรที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนให้กับโลกในทุกมิติ
“วิสัยทัศน์ของเรา คือ การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก pep+ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมคุณค่าให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำทั้งการผลิต เพาะปลูก การแปรรูป การลำเลียงขนส่ง และการจัดจำหน่าย เพื่อไปสู่ปลายทางสุดท้ายคือผู้บริโภค ทั้งยังสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมโดยที่ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับทรัพยากรธรรมชาติ”
สำหรับกลยุทธ์เชิงบวก “PepsiCo Positive หรือ pep+” นั้น ประกอบด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่
- Positive Agriculture: การเกษตรเชิงบวก
- Positive Choices: ทางเลือกเชิงบวก
- Positive Value Chain: ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก
การเกษตรเชิงบวก คือ แนวทางในการฟื้นฟูผืนดินในพื้นที่ 7 ล้านเอเคอร์ หรือประมาณเกือบ 18 ล้านไร่ โดยการจัดหาพืชผลกลุ่มตระกูลถั่วงา ธัญพืช ผักผลไม้ ที่สามารถนำมาปลูกเพื่อฟื้นฟูคุณภาพดินได้อย่างสมดุลย์ 100% เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรและคนในชุมชนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบอันจะเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านการเกษตรอย่างถาวร นําไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สุทธิอย่างน้อย 3 ล้านตันภายในปี 2573 อันจะช่วยปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของกว่า 250,000 คน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้กับสตรีในภาคการเกษตรด้วย
ทางเลือกเชิงบวก คือ แนวทางส่งเสริมคุณค่าทางอาหารในผลิตภัณฑ์ของเป๊ปซี่โค ได้แก่การลดความหวานจากน้ำตาลในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ลดปริมาณโซเดียมและไขมันอิ่มตัวในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค โดยปัจจุบันนี้ กว่า 70% ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปของเราสามารถบรรลุระดับปริมาณโซเดียมเป้าหมายสำหรับปี 2573 ที่แนะนำโดยองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้แล้ว
ห่วงโซ่คุณค่าเชิงบวก คือ แนวทางสร้างห่วงโซ่คุณค่าแบบหมุนเวียนวัตถุดิบ ส่งเสริมการรีไซเคิล การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ และมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero emissions) ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าของเราภายในปี 2583 โดยภายในปี 2573 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้มากกว่า 40% ทั้งนี้ ในปี 2566 เพียงปีเดียว โรงงานทั้ง 2 แห่งที่ลำพูนและโรจนะได้บรรลุความสำเร็จในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ 100% แล้ว และยังลดการใช้ทรัพยากรน้ำไปได้รวม 15% จากอัตราปกติด้วย และในส่วนบรรจุภัณฑ์นั้น ก็สามารถดึงกลับมาได้กว่า10% ในปี 2566 และเราได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการดึงกลับให้ได้ 30% ในปี 2568 ด้วย
Greenhouse Accelerator โปรเจคต์ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ยั่งยืน
นอกจากความร่วมมือกับเกษตรกรและภาครัฐ เป๊ปซี่โค ยังได้ขยายความร่วมมือและการสนับสนุนไปยังกลุ่มสตาร์ทอัพ ภายใต้โครงการ “Greenhouse Accelerator” เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาต่อยอดกลยุทธ์เชิงบวก หรือ pep+ อย่างเป็นรูปธรรม
นางสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโครงการ Greenhouse Accelerator เป็นโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของเป๊ปซี่โค ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในปี 2567 ได้ขยายหัวข้อใหม่ครอบคลุมเรื่อง “เกษตรกรรมยั่งยืน” ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและแนวทางรับมือกับสภาพภูมิอากาศ และในปีนี้มีสตาร์ทอัพหลายประเทศรวมถึงสตาร์ทอัพจากประเทศไทยผ่านเข้ารอบ
สำหรับโครงการ Greenhouse Accelerator ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและยั่งยืน โดยโครงการเริ่มต้นขึ้นที่ยุโรป อเมริกาเหนือ แอฟริกาเหนือ ภูมิภาคตะวันออกกลาง และมาถึงเอเชียแปซิฟิกในปี 2566 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพเกิดใหม่จากโครงการนี้ 86 แบรนด์ มียอดขายเติบโตรวมกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 700 ล้านบาท
เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ในฐานะ ‘Iconic Brand’ ยังคงมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางของความยั่งยืนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อผู้คนตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่ธุรกิจ พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ลดความเสี่ยงรอบด้านที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารหรือปัญหาเชิงโครงสร้างและการเมืองที่ส่งผลต่อการค้าขายทั่วโลก ขณะที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าให้กับสังคม
###